งาน HR คือหนึ่งในงานที่ยากที่สุดในโลกธุรกิจ เพราะการดูแลคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับด้านจิตใจ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด HR ที่ดีจึงต้องหมั่นหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หากเราหยุดนิ่งก็จะถูกบริษัทคู่แข่งแซงขึ้นไปทันที
ดังนั้นเพื่อให้ HR มีความพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย HRMAsia ได้ให้คำจำกัดความถึง AI ในปี 2024 ไว้ง่าย ๆ ว่า มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานแบบมีผู้คนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น (Human-Centric) โดยมีรายละเอียดสำคัญอยู่ 5 ข้อซึ่งจะกล่าวในบทความนี้
- AI ในปี 2024 จะเติบโตขึ้นมากกว่าที่เคย องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่เลือกนำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นตัวช่วย ส่วนองค์กรที่ล้มเหลวคือองค์กรที่ยังมองว่ามันเป็นปัญหาและพยายามกีดกัน AI ออกไป
- AI จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความเท่าเทียมในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมีข้อมูลให้ใช้วิเคราะห์จากทั่วโลก สามารถพิจารณาได้แบบไม่มีอคติ โดยผลวิจัยจาก Sapia.ai ระบุว่าการคัดเลือกผู้สมัครด้วย AI ได้ช่วยให้มีผู้หญิงถูกเลือกมากกว่าเดิมถึง 30% ในสายงาน IT
- AI จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆให้กับทั้งบุคลากร, ผู้สมัคร และพันธมิตรทางธุรกิจ การสื่อสารแบบเดิมจะค่อย ๆ หายไป เปลี่ยนเป็นการวางกลยุทธ์โดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางแบบรายบุคคลมากขึ้น (Human-Centric)
- AI-Driven Organization จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเป็นความต้องการขององค์กรเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมีคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มองเทคโนโลยีไปในทิศทางเดียวกันด้วย นี่คืองานขององค์กรทั่วโลกที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับผู้คนให้ได้
ปี 2024 จะเป็นปีที่คนเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปี 2024 จะเป็นปีที่เราก้าวเข้าสู่ความเป็น Smart Company โดยสมบูรณ์ องค์กรส่วนใหญ่จะเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานทั้งกับลูกทีมและกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ในส่วนของ HR นั้น AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการว่าจ้างพนักงาน, การดูแลเรื่องความแตกต่างในองค์กร, การมีส่วนร่วมของพนักงาน ตลอดจนการรักษาพนักงาน
การนำ AI เข้ามาช่วยในเรื่องของการคัดเลือกบุคลากรและการสัมภาษณ์พนักงาน จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกองค์กรขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวผู้สมัครมองว่าพวกเขาถูกพิจารณาด้วยความเป็นธรรม บางองค์กรยังมีแนวโน้มที่จะนำ AI Bot มาใช้ เพื่อให้การสื่อสารในองค์กรทำได้ง่ายขึ้น กล่าวได้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นสิ่งที่คนเลือกใช้ ไม่ได้ต่อต้านอีกต่อไป
ปี 2024 จะเป็นปีที่ AI ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ใหม่ให้กับพนักงาน
เมื่อปัญญาประดิษฐ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น มันก็สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างภาพลักษณ์ (Branding) ให้บริษัทเพื่อดึงดูดคนเก่งให้สนใจมาร่วมงานกับเรา จึงกล่าวได้ว่า AI สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีได้ตั้งแต่อีกฝ่ายยังไม่ได้เป็นบุคลากรของเราด้วยซ้ำ
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ Candidate Journey มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ผู้สมัครจะสามารถสื่อสารกับตัวแทนขององค์กรได้ตลอดเวลา, สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าการเติบโตของ AI จะทำให้การทำแบบสำรวจเสื่อมความนิยมลง เพราะ Generative AI จะถูกนำมาใช้กับพนักงานเป็นรายบุคคลมากขึ้น ซึ่ง AI เหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง จึงสามารถปรับตัวเข้าหาความต้องการของแต่ละคนได้มากกว่า (In-Depth Approach) ในที่นี้ ทำนายว่าการทำแบบสำรวจแบบเดิม (Traditional Survey) จะเสื่อมความนิยมลงภายใน 2 ปี
ปี 2024 จะเป็นปีที่ AI ถูกนำมาช่วยเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น
เรื่องของ Diversity & Inclusion ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติขั้นพื้นฐานขององค์กรทั่วโลกไปแล้ว แต่ในปี 2024 ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยทำให้ความเท่าเทียมมีประสิทธิภาพมากไปอีกขั้น กล่าวคือในอดีตนั้นกระบวนการสรรหาแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอยู่บ้าง แต่การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายก็มักมาจากมนุษย์ และเครื่องมือ AI ส่วนใหญ่ก็ยังต้องใช้ข้อมูล (Input) จากมนุษย์อยู่ดี จึงปฎิเสธไม่ได้ว่ามันมีอคติบางอย่างแฝงอยู่
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันเติบโตขึ้นมากแล้ว AI Bias เริ่มพบเห็นได้น้อยลง โดย HRMAsia ได้ทำแบบสำรวจและพบว่า AI ในปัจจุบันได้ช่วยให้มีผู้สมัครเพศหญิงที่ได้รับการคัดเลือกสูงขึ้นถึง 30% ในสายงานด้านไอที นี่คือตัวอย่างเบื้องต้นที่ทำให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ส่งผลกับพัฒนาการเรื่องความเท่าเทียมโดยตรง
อคติของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นไม่ว่าเราจะฝึกฝนเรียนรู้มากแค่ไหน แต่ในขณะที่โลกของเราเปิดรับพนักงานได้จากทั่วโลก (Gig Worker) ก็ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจพวกเขาได้ทั้งหมด ในที่นี้ปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและข้อมูลที่หลากหลายจะช่วยให้เราเข้าใจคนหมู่มากได้ดีขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น ก้าวข้ามอคติและการเหมารวม (Stereotype) ไปได้ ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงคนที่เก่ง (Talents) ได้มากกว่าเดิม
ปี 2024 คือปีที่ HR ต้องเรียนเรียนรู้ตลอดเวลา
เรากำลังอยู่ในยุคของ AI-Driven Era คนที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลจะต้องเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุดตามแนวคิดของ Lifelong Learning
ทั้งนี้เพราะโลกทัศน์ของวงการธุรกิจมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เราต้องมั่นใจว่าองค์กรกำลังก้าวนำผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจในเรื่องของ AI Trends โดยสมบูรณ์
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในปี 2024 คือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอบรมเรื่อง AI ให้ผู้นำ และเป็นองค์กรที่พนักงานรู้ว่าเครื่องมือแบบไหนเหมาะกับการใช้งานมากที่สุด โดยเป้าหมายสำคัญคือการทำ Transformation ให้ทุกคนในองค์กรเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ปี 2024 คือปีที่เราต้องร่วมวางกลยุทธ์กับพันธมิตรเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
การนำ AI เข้ามาใช้กับการทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องขององค์กรเราเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องรู้ด้วยว่าเครื่องมือแบบไหนที่เหมาะกับการแก้ปัญหาของลูกค้าหรือพันธมิตร ทุกฝ่ายต้องสื่อสารกันมากขึ้น เพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับการทำงานมากที่สุด (Strategic Partnership) ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์มันเหมือนกัน ธุรกิจก็จะเติบโตอย่างแข็งแรง แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมองว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ การร่วมงานกันก็จะยากขึ้น และมีโอกาสที่ธุรกิจจะหยุดชะงักโดยไม่ทันตั้งตัว
บทสรุป
ปี 2024 จะเป็นปีที่ผู้บริหารและ HR ทั่วโลกตระหนักเหมือนกันว่าวิธีการทำธุรกิจแบบเดิม (Business as Usual) ไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องมองไปข้างหน้าเสมอเพื่อให้ตัวเองเป็น HR แห่งอนาคต (HR of Tomorrow) เราต้องหมั่นเรียนรู้ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเรา, ต้องรู้ว่าวิธีทำงานที่ดีที่สุดของ Hybrid Working คืออะไร, หัวข้อที่ผู้นำในองค์กรของเราต้องเรียนรู้มากที่สุดคืออะไร, เทคโนโลยีแบบไหนที่เลือกมาแล้วคุ้มค่ากับงบประมาณที่มีมากที่สุด และกลยุทธ์ไหนในองค์กรที่ล้าสมัย ไม่ควรให้เวลากับมันอีกต่อไปแล้ว เป็นต้น
การคิดแบบองค์รวมจะกลายเป็นรากฐานสำคัญ ดังที่คุณ Barb Hyman ผู้เชี่ยวชาญและ CEO จาก Sapia.ai กล่าวว่า ‘การนำ ai เข้ามาใช้ในกระบวนทำงานของ HR อย่างจริงจัง ต้องอาศัยความเข้าใจมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี’ ดังนั้นได้เวลาถามตัวเองแล้วล่ะว่าคุณรู้จักองค์กรของตัวเองดีพอแล้วหรือยัง ?
ที่มา : https://th.hrnote.asia/hrtech/ai-trends-2024-240119/