ยุคนี้ ไม่เพียงแต่เงินเดือนเท่านั้นที่จูงใจให้พนักงานอยากอยู่ต่อ แต่สวัสดิการดีๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มัดใจพนักงานไว้กับองค์กร เช่น เงินค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าประจำตำแหน่ง ฯลฯ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลาออกจากงาน เงินส่วนนี้ถือเป็นค่าจ้างที่ต้องมาคำนวณในส่วนของค่าชดเชยด้วยหรือไม่ ? ชวนไปหาคำตอบกัน…
ไขข้อข้องใจกับเงินค่าจ้าง
ก่อนอื่น คำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน
ในส่วนของเงินที่จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น จ่ายเป็นขวัญและกำลังใจเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานตรงเวลา ทุ่มเท ขยัน เงินในลักษณะนี้ จะไม่นับเป็นค่าจ้างหรือเงินอื่น ๆ เช่น ค่าผ่านทางด่วน ค่าที่จอดรถ ที่ให้เป็นครั้งคราว ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่เป็นค่าจ้าง
เงินสวัสดิการ = เงินค่าจ้าง ?
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินจำนวนหนึ่งโดยวิธีเหมาจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำเท่ากันทุก ๆ เดือน เช่น จ่ายค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ให้กับลูกจ้างแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 10,000 บาท เท่ากันทุกเดือน โดยไม่ได้คำนึงว่าลูกจ้างจะจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้จ่ายไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน กอปรกับหากลูกจ้างไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันรถหรือใบเสร็จค่าโทรศัพท์มาเป็นหลักฐานในการเบิก จึงจะนับว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง โดยให้ถือเป็นค่าจ้าง
สำหรับเงินในส่วนดังกล่าว ทั้งเงินค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งเงินเดือน จะต้องนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ (ในกรณีที่พนักงานถูกเลิกจ้าง) ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ต้องไม่เกิน 600,000 บาท
สรุปได้ว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นเบี้ยขยัน หรือเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานโดยจ่ายให้เป็นครั้งคราว ถือว่าเป็นเงินสวัสดิการที่ไม่นับเป็นค่าจ้าง แต่สำหรับเงินที่นายจ้างใช้วิธีเหมาจ่ายให้ลูกจ้างเป้นประจำในจำนวนเท่ากันทุกเดือน จะนับเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชย กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน
ที่มา :
https://legal.labour.go.th/attachments/article/32/474801.pdf