เงินชดเชย..เมื่อถูกเลิกจ้างและเกษียณอายุ จ่ายยังไง และต้องเสียภาษีไหม?

เงินชดเชย ที่ลูกจ้างต้องได้รับ ไม่ว่าเป็นการถูกเลิกจ้าง หมดสัญญาจ้างหรือเกษียณอายุ ในแต่ละรูปแบบนั้น จะได้รับเงินชดเชยที่อัตราส่วนที่แตกต่างกัน รวมทั้งเงื่อนไขของการเสียภาษีที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน

สำหรับเงินชดเชยในที่นี้ เราจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง และเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง 

1. เงินชดเชยจาก กรณีถูกเลิกจ้าง

การถูกเลิกจ้างเป็นเรื่องเจ็บปวดเพราะคงไม่มีใครอยากถูกให้ออกจากงานโดยไม่ทันตั้งตัว แต่หากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันนี้ขึ้น ก็อย่าเพิ่งตระหนกตกใจไปเสียก่อนเพราะอย่างน้อยสิ่งที่ลูกจ้างจะได้รับ คือ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งยิ่งอายุงานนานเท่าไหร่ ก็จะได้รับเงินชดเชยที่สูงตามไปด้วย ดังนี้

อายุงานเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ไม่ถึง 120 วันไม่ได้รับเงินชดเชย
ไม่ถึง 1 ปี1 เดือน (30 วัน)
1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี3 เดือน (90 วัน)
3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี6 เดือน (180 วัน)
6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี8 เดือน (240 วัน)
10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี10 เดือน (300 วัน)
20 ปีขึ้นไป13 ½ เดือน (400 วัน)

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจหรือทำผิดวินัยบริษัทอย่างร้ายแรงจนทำให้ถูกไล่ออก เช่น ขโมยทรัพย์สินบริษัท หรือนำความลับของบริษัทไปเปิดเผยให้แก่บริษัทคู่แข่ง ฯลฯ ลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องขอรับเงินชดเชยจากนายจ้างได้ในทุกกรณี

ตัวอย่างการคำนวณเงินชดเชย กรณีถูกเลิกจ้าง

นายสันติ อายุ 45 ปี ทำงานครบ 10 ปี ได้รับเงินเดือน เดือนสุดท้าย 70,000 บาท เนื่องจากทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี จำนวนวันที่ได้รับชดเชย = 300 วัน จำนวนเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน คือ เงินเดือนสุดท้าย/30 วัน x จำนวนวันที่ได้รับชดเชย  (70,000/ 30) x 300 = 700,000 บาท

2. เงินชดเชยกรณีเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง

สำหรับลูกจ้างที่ทำงานจนเกษียณอายุ (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุ 55-60 ปี ขึ้นอยู่กับบริษัท) นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายชดเชยกรณีเกษียณอายุหรือเงินก้อนที่จ่ายให้ครั้งเดียวแก่ลูกจ้างเพราะถือว่าหมดสัญญาจ้างแล้ว โดยเงินก้อนส่วนนี้จะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย 

ตัวอย่างการคำนวณเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง

นายสมศักดิ์ ทำงานเป็นเวลา 15 ปี และเกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี เงินเดือนสุดท้ายคงที่ที่ได้รับ 100,000  บาท/เดือน  จำนวนเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานคือ เงินเดือนสุดท้าย x อายุงาน = 100,000 x 15 = 1,500,000 บาท 

ทั้งนี้ นอกจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่คำนวนมาข้างต้นแล้ว เพื่อตอบแทนลูกจ้างหรือจูงใจให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างบางรายอาจให้เงินชดเชยแก่ลูกจ้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กฏหมายกำหนดก็ได้

สำหรับเงินชดเชยข้างต้นนั้นจะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย  แต่เฉพาะกรณีของเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างเท่านั้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากรายได้ที่เกิดจากเงินชดเชยไม่เกิน 600,000 บาท (จากเดิมคือ 300,000 บาท แต่ปรับเพิ่มเป็น 600,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566) โดยยกเว้นเฉพาะส่วนเงินชดเชยที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วัน เท่านั้น)

ตัวอย่างการได้สิทธิยกเว้นภาษี

ตัวอย่างที่ 1 นายสมศักดิ์ ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมาย 700,000 บาท จะได้สิทธิยกเว้น 600,000 บาท จึงเหลือรายได้ที่นำไปคำนวนภาษี 100,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2 นายสมชาย ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมาย 400,000 บาท แต่บริษัทให้เพิ่มเติมนอกเหนือจากกฏหมายอีก 200,000  ดังนั้นจะได้สิทธิยกเว้นเพียง 400,000 บาท จึงเหลือรายได้ที่นำไปคำนวนภาษี 200,000 บาท

ตัวอย่างที่ 3 นางสมพร ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมาย 500,000 บาท จะได้สิทธิยกเว้น 500,000 บาท จึงไม่ต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปคำนวนภาษี

ส่วนกรณีของเงินชดเชยจากการเกษียณอายุ จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ต้องนำรายได้จากเงินชดเชยไปคำนวนภาษีเต็มจำนวน 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย ก็ให้นำรายได้ดังกล่าวมารวมแล้วจึงนำไปคำนวนภาษีต่อไป ซึ่งวิธีคำนวนภาษีจากรายได้ที่เกิดจากเงินชดเชยเมื่อออกจากงานนั้น ให้นำรายได้หลังจากหักสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 2 แล้วไปคิดภาษี โดยจะมีวิธีคำนวนที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี และตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยการนับอายุงานว่าครบ 5 ปีหรือไม่ มีวิธีคิดดังนี้ 

หากทำงานครบ 5 ปี การนับอายุงานจะนับเป็นจำนวนเต็มปี โดยปัดเศษของอายุงานส่วนเกินตั้งแต่ 183 วัน ให้ถือเป็น 1 ปี เช่น

  • อายุงาน 5 ปี 184 วัน จะถือว่าอายุงานครบ 6 ปี
  • อายุงาน 5 ปี 183 วัน จะถือว่าอายุงานครบ 6 ปี
  • อายุงาน 5 ปี 182 วัน จะถือว่าอายุงานครบ 5 ปี
  • อายุงาน 4 ปี 183 วัน จะยังไม่ถือว่าอายุงานครบ 5 ปี

เงื่อนไขการเลือกวิธีคำนวนภาษี

อายุงานกรณีถูกเลิกจ้างกรณีเกษียณฯ
น้อยกว่า 5 ปีหักสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 2 แล้ว นำไปคิดรวมกับ 40(1)นำไปคิดรวมกับ 40(1)
ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหักสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 2 แล้ว เลือกว่าจะคิดรวมกับ 40(1) หรือไปคิดแยกเป็น 40(1)(2)เลือกว่าจะคิดรวมกับ 40(1) หรือไปคิดแยกเป็น 40(1)(2)

การนำไปคิดรวมกับ 40(1) หมายถึงนำรายได้จากเงินชดเชยไปรวมกับรายได้จากการทำงานปกติเช่น เงินเดือน ค่าจ้าง แล้วนำรายได้รวมดังกล่าวไปคำนวนภาษีตาม ภงด.91

การไปคิดแยกเป็น 40(1)(2) หมายถึง การแยกคำนวณภาษี โดยใช้แบบฟอร์ม “ใบแนบ ภ.ง.ด.90,91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า การคำนวนแบบใบแนบ ซึ่งจะมีข้อดีช่วยให้ลูกจ้างเสียภาษีถูกกว่าการนำไปคำนวณภาษีรวมกับรายได้อื่นๆ

การคำนวณภาษีแบบใบแนบ จะนำรายได้หลังจากหักสิทธิยกเว้นมาภาษี มาหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนแรกคือ 7,000 คูณด้วยอายุงานเป็นปี และส่วนที่สอง คือ 50% ของเงินได้ที่เหลือจากหลังหักค่าใช้จ่ายส่วนแรกแล้ว จึงนำเงินได้สุทธินั้นไปคิดภาษี

อย่างไรก็ตาม การเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องกรอกจำนวนเงินชดเชยและจำนวนภาษีที่ถูกหักเองตอนคำนวณเงินเดือน หรือหากมีข้อสงสัย ก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่ใกล้บ้านได้เช่นกัน

ที่มา

https://www.rd.go.th/fileadmin/download/leave_of_work.pdf

https://bit.ly/3TaAR71

https://bit.ly/4cQJ4oc

Recently Post

สิทธิพิเศษ! ยกเว้นภาษีเงินได้ 190,000 บาท แก่ผู้สูงอายุ 65 ปี และผู้พิการ

สิทธิพิเศษ! ยกเว้นภาษีเงินได้ 190,000 บาท แก่ผู้สูงอายุ 65 ปี และผู้พิการ

ใครที่มีบิดามารดาอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปหรือเป็นคนที่ต้องดูแลผู้พิการในครอบครัว...

อ่านเพิ่มเติม