นายจ้างต้องรู้ ! กำหนดวันหยุดยังไง ที่ไม่ขัดกับกฎหมาย

ถ้าไม่อยากทำผิดกฎหมายแรงงาน สิ่งที่นายจ้างต้องรู้และทำตาม นั่นก็คือ การกำหนดวันหยุดให้ลูกจ้างตามกฎหมาย โดยวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีอย่างน้อย 13 วัน/ปี และหากทำงานครบปี ลูกจ้างจะได้สิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 6 วัน/ปี

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุไว้ว่า ‘วันหยุด’ หมายถึง วันที่กำหนดให้ลูกจ้างได้หยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี และได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 28 ว่า นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ๆ หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วันโดยต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน หรือนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันและกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์เป็นวันใดก็ได้

         สำหรับบางงาน เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าเพื่อสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

         ส่วนวันหยุดตามประเพณี นายจ้างต้องปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าและต้องไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยต้องนับรวมกับวันแรงงาน หรือวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ที่ลูกจ้างจะต้องได้หยุดตามกฎหมาย (ยกเว้นข้าราชการไม่ถือว่าเป็นวันหยุด) หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         นอกเหนือจากวันแรงงาน นายจ้างสามารถกำหนดวันหยุดตามประเพณีอื่นๆ ได้จากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนมธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ยกเว้นในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ตามกฎหมายจะกำหนดให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป ยกเว้นเสียแต่ ลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่อาจให้หยุดตามประเพณีได้ ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นเพื่อชดเชยหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างก็ได้เช่นกัน

         อย่างไรก็ตาม วันหยุดตามประเพณีบางบริษัทอาจมีมากกว่า 13 วัน และอาจไม่ได้หยุดตามปฏิทิน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น กรณีที่วันสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งปกติจะต้องหยุดชดเชยในวันทำงานเพิ่มอีก 2 วัน แต่บางบริษัทอาจชดเชยให้หยุดเพียงวันเดียว ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

วันลาพักร้อน โบนัสที่ลูกจ้างรอคอยเมื่อทำงานครบ 1 ปี ลูกจ้างได้รับสิทธิ์วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วัน โดยนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้ล่วงหน้าหรือกำหนดวันหยุดร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างก็ได้ทั้งนี้ หากทำงานเกิน 1 ปี นายจ้างอาจให้จำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มมากกว่า 6 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท รวมไปถึงหากปีไหนที่ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ครบหรือไม่ได้ใช้ ลูกจ้างสามารถตกลงกับนายจ้างได้ว่าจะเก็บสะสม และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปก็ได้

ที่มา https://bit.ly/3K7ZmNr

Recently Post

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

ยุคนี้ ไม่เพียงแต่เงินเดือนเท่านั้นที่จูงใจให้พนักงานอยากอยู่ต่อ แต่สวัสดิการดีๆ...

อ่านเพิ่มเติม