กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาคบังคับ หรือ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” (กบช.) เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐฯ ผลักดันให้ลูกจ้างในระบบ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ออมเงินเพิ่มเติมสำหรับวัยเกษียณ ตั้งเป้าให้ลูกจ้างมีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ จากปัจจุบันที่มีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ย 19% ของรายได้ก่อนเกษียณ
กบช. จะเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่ ?
ปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับหรือ กบช. ยังไม่มีการประกาศให้มีผลบังคับใช้ ยังคงเป็นเพียง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ชุดเดิม ตั้งแต่ 30 มีนาคม 2564 และอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การออมใน กบช. นั้น จะส่งผลดีต่อแรงงานในระบบ เช่น ลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ และพนักงานของรัฐ ให้มีเงินออมเพิ่มเมื่อพ้นวัยทำงาน เนื่องจากปัจจุบัน การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังเป็นแบบสมัครใจ และมีสมาชิกที่เข้าถึงกองทุนฯ เพียง 3 ล้านคนหรือคิดเป็น 17.7% ของแรงงานในระบบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในบั้นปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า เมืองไทยจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) ที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 20%
สาระสำคัญของ กบช.
เงื่อนไขของ กบช. กำหนดให้ลูกจ้างทุกคนที่มีอายุ 15-60 ปี ต้องส่งเงินเข้ากองทุนร่วมกับนายจ้างในอัตราขั้นต่ำฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง และจะทยอยปรับเพิ่มอัตราขั้นต่ำเป็น 10% ในระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีระยะเวลาปรับตัว ซึ่งในระยะแรกจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. กบช. มีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 1 ปี
สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน นายจ้างต้องเป็นคนจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยที่สมาชิกสามารถเลือกได้ว่าจะส่งเงินสะสมหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างและนายจ้างสามารถส่งเงินเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้างโดยไม่กำหนดเพดานค่าจ้าง และเมื่อสมาชิกมีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะขอรับเงินบำเหน็จเป็นก้อนหรือรับเงินบำนาญเป็นระยะเวลา 20 ปีก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เงินออมของ กบช. ยังสามารถนำไปใช้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสะสม เงินผลประโยชน์ และเงินที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุอีกด้วย
วิธีจัดตั้ง กบช.ในส่วนของนายจ้าง
ในส่วนของการจัดตั้ง กบช.นั้นจะมีรูปแบบที่เหมือนกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ได้แก่
- นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจัดตั้งกองทุน
- จัดตั้งคณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และหากเป็น กบช. อาจมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเพิ่ม
- ติดต่อบริษัทจัดการเพื่อนำเสนอแผนการลงทุน
- กำหนดแผนการลงทุนที่เหมาะสม
- จัดทำข้อบังคับกองทุน
- ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนต่อ ก.ล.ต.
- ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ลูกจ้าง ทั้งเรื่องแผนการลงทุนและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
สำหรับบริษัทที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจแล้ว เมื่อ พ.ร.บ. กบช.มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจไปเป็น กบช.ได้่เลย แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ. กบช นี้จะประกาศใช้เมื่อไหร่ โดยเป็นที่คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ ด้านภาครัฐเองก็คงต้องวางแผนกรอบการดำเนินงานให้รอบคอบเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนจะได้รับ
ที่มา
https://www.fpo.go.th/main/Important-economic-policy/7776.aspx
https://www.thaipvd.com/article/home/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/n0dewh