อยากทำงาน HR ต้องทำอย่างไร ทำความเข้าใจก่อนเริ่มหางาน

งาน HR เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากงานหนึ่งในตลาดแรงงานปัจจุบัน ไม่เพียงเป็นตำแหน่งงานที่มีความจำเป็น ต่อการ สรรหาบุคลากร ของบริษัทเท่านั้น แต่พนักงาน HR ยังมีส่วนช่วยพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อยากเป็น HR ต้องทำอย่างไร?

งาน HR(Human Resources) หรืองานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ดูแลเรื่องการสรรหา คัดเลือกบุคลากร การว่าจ้าง ดูแลเรื่องค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการบุคลากร ผู้ที่จะทำงาน HR ได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม เพื่อที่จะได้เข้าถึงปัญหา อีกทั้งต้องมีแนวคิด ในทางการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ช่องทางการเข้าสู่อาชีพการทำ งาน HR ที่ตรงกับความต้องการของนายจ้างมากที่สุด คือการเรียนจบในคณะต่าง ๆ ดังนี้  คณะศิลปศาสตร์ (เอกจิตวิทยา/เอกจิตวิทยาอุตสาหกรรม) คณะรัฐศาสตร์ (เอกบริหารรัฐกิจ/เอกการปกครอง/เอกรัฐประศาสนศาสตร์) คณะพาณิชยศาสตร์ (เอกบริหารทรัพยากรมนุษย์) คณะและสาขาวิชาดังที่กล่าวมา จะสอนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงาน HR โดยตรง

ถึงแม้ว่า ผู้หางานจะไม่ได้เรียนจบมาจากคณะดังกล่าวโดยตรง แต่โอกาสที่จะได้ งาน HR ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว เพราะในบางบริษัทอาจจะเขียนประกาศรับสมัครงานแบบเปิดกว้าง คือ จบสาขาใดมาก็ได้ เพียงแต่ว่าผู้สมัครงาน จะต้องนำเสนอข้อดีของตนให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้นายจ้างเห็นว่าเรามีคุณสมบัติที่ตรงกับงาน และมีความสามารถเพียงพอ ที่จะรับผิดชอบงานนี้ได้ แม้ว่าจะไม่ได้จบมาโดยตรง

คุณสมบัติตรงใจได้งาน HR

ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ความสามารถที่ตรงกับสายงาน HR เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลนั้น ยังต้องมีคุณสมบัติ หรือบุคลิกส่วนตัวที่ช่วยให้การทำงาน HR ประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • ทำงานได้เหนือความคาดหมาย ความช่วยเหลือ และการบริการที่รวดเร็วฉับไว เป็นสิ่งที่พนักงานคนอื่น ๆ คาดหวัง ดังนั้น การที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้พนักงานเกิดความประทับใจ และรู้สึกได้ว่า HR สามารถเป็นที่พึ่งพาได้
  • เป็นนักเรียนรู้ พนักงาน HR ต้องเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้อยู่เสมอ รู้จักอัพเดทข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงาน HR เช่น การเสียภาษี หรือ กฎหมายแรงงานต่าง ๆ เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ ไปบอกกล่าวกับพนักงานได้อย่างถูกต้อง
  • เป็นผู้ให้คำปรึกษา อาจจะมีบางครั้งที่พนักงานต้องพบเจอกับอุปสรรค ไม่ว่าในเรื่องของการทำงาน หรือเรื่องชีวิตส่วนตัว ปัญหาเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการทำงานได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ HR จึงต้องช่วยเหลือ ด้วยการหาวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง หรือให้คำแนะนำเมื่อจำเป็น
  • เข้าถึงบุคคลได้ทุกกลุ่ม ผู้ที่ทำหน้าที่ HR ต้องไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และไม่แสดงออกว่า ตัวเองชอบ หรือไม่ชอบใคร จนดูผิดสังเกต เพราะจะทำให้พนักงานไม่กล้าเข้าหา จนทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมาได้
  • HRเป็นผู้เก็บความลับ เพราะงาน HR เป็นงานที่ต้องดูแลข้อมูลต่าง ๆ ของพนักงานส่วนหนึ่ง ทั้ง เงินเดือน และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ จึงต้องเก็บรักษาความลับต่าง ๆ ให้ดี ไม่ควรเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร เจ้าหน้าที่บุคคลต้องช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดี ทั้งต่อองค์กร และต่อพนักงานด้วยกันเอง ให้มีความผูกพันแน่นแฟ้น อันจะนำไปสู่ความเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ดี

งาน HRมีลักษณะอย่างไร

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า งาน HR เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร และการสรรหาคนเข้าสู่องค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว งาน HR ยังแบ่งออกเป็นหลายประเภท และหลายหน้าที่ ซึ่งมีอยู่หลัก ๆ ดังนี้

  •  งานสรรหาและจัดจ้างบุคคล ที่มีคุณภาพเข้าสู่องค์กร โดยเจ้าหน้าที่งานบุคคล จะเป็นผู้รับประกาศรับสมัครงาน นัดสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สัมภาษณ์งาน หรือต่อรองเงินเดือนด้วยเช่นกัน
  • งานฝึกอบรม จัดหาหลักสูตรการอบรมให้กับพนักงานแผนกต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ HR ต้องมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับพนักงานในองค์กร เพื่อให้บุคลากรมีศักยภาพ และทักษะเพิ่มมากขึ้น
  • ดูแลผลประโยชน์ของพนักงาน โดยส่วนใหญ่แล้ว พนักงานฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้ที่ดูแลด้านเอกสารต่าง ๆ ให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ ประกันสังคม เงินช่วยเหลือพนักงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พนักงานควรจะได้รับ
  • สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน โดยดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ให้พนักงานมีส่วนร่วม เช่น การจัดการท่องเที่ยวประจำปี หรือจัดกิจกรรมที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เกิดในหมู่พนักงาน (Team Building) รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และรักในตัวองค์กร

งาน HR แบ่งออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน แต่โดยรวมแล้ว ลักษณะของการทำงานเป็นไปเพื่อพัฒนา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดกับองค์กร ด้วยการพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

เครดิต : JOBDB

Recently Post

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

ยุคนี้ ไม่เพียงแต่เงินเดือนเท่านั้นที่จูงใจให้พนักงานอยากอยู่ต่อ แต่สวัสดิการดีๆ...

อ่านเพิ่มเติม