วันที่ ๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ “พระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน” พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ คือ การประกาศเลิกทาส ทำให้ปวงชนชาวไทยได้เป็นไทมาจวบจนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี พระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐา ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กระพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่าง ๆ หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถทรงจ้างครูซึ่งเป็นชาวต่างประเทศโดยตรงมาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทรงเห็นว่าต่อไปในอนาคตจะจำเป็นอย่างมาก และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่าง ๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ด้วยพระองค์เองด้วย
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” หรือพระพุทธเจ้าหลวง
พระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ อาทิ ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป ด้านการปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี ๖ กระทรวง และได้เพิ่มอีก ๔ กระทรวง รวมเป็น ๑๐ กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกและให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล ด้านการศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นด้วยทรงอยากให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรกด้วย ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น
พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไทตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่ายเพื่อหาวิธีไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๑๗ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว
นอกจากนี้ การเสด็จประพาสต้น ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับทางรถไฟหรือไม่ก็ทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทหรือพระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตรอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม