การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่การบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในทีมอีกด้วย ซึ่งในยุคนี้ หลายคนอาจเจอกับความท้าทายในการจัดการทีมที่ประกอบด้วยคนจากหลายเจเนอเรชัน
ข้อมูลจาก Gallup ยังชี้ให้เห็นว่า 54% ของเจเนอเรชัน Z และมิลเลนเนียลรุ่นใหม่ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้สึกผูกพันกับเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งองค์กรของตัวเอง ทำให้ผู้นำหลายคนเห็นว่าช่องว่างระหว่างเจเนอเรชันเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ
แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนที่จะโทษช่องว่างระหว่างวัยกันไปหมดทุกเรื่อง ลองคิดดูสิว่ามันมีจริงหรือเป็นแค่ความเข้าใจผิด? หรือบางทีผู้นำอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละวัยมากขึ้น? ปัจจุบันเราอาจมีคนจากสี่เจเนอเรชันทำงานร่วมกันในที่เดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ ค่านิยม และความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อาจดูเหมือนไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือมิลเลนเนียลอาจถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว และเจน Z ก็อาจถูกตำหนิว่าเป็นพวกขี้เกียจ จริงๆ แล้ว ความเชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากสมมติฐานที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เมื่อเราพบเจอกับพฤติกรรมที่เราไม่เข้าใจ เรามักจะตีความไปตามประสบการณ์และความเชื่อของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เรามองเห็นในมุมที่แคบลง สิ่งที่แต่ละคนให้ความสำคัญถูกกำหนดขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตที่เติบโตมา ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจต่างๆ
การเชื่อมช่องว่างระหว่าง GEN
แทนที่จะใช้ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชันเป็นข้ออ้างของการขาดการเชื่อมต่อและการไม่มีส่วนร่วม ผู้นำควรเริ่มต้นการสนทนาที่เปิดเผยแรงจูงใจ ค่านิยม และแรงบันดาลใจของแต่ละบุคคล เพื่อช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ส่งเสริมความไว้วางใจและความเข้าใจ ความต้องการของพนักงานมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยได้รับอิทธิพลจากทั้งประสบการณ์ส่วนตัวและจากสภาพเเวดล้อมภายนอก ผู้นำจำเป็นต้องตระหนักว่าชีวิตของคนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในที่ทำงานเท่านั้น และควรพิจารณาถึงปัจจัยส่วนตัวที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การรับรู้ถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือสถานการณ์ส่วนตัวของพนักงาน สามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความจงรักภักดีของพนักงานได้
สามสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องการ
“มองเห็น เคารพ และเติบโต”
ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะมีการสนทนาเชิงลึกกับสมาชิกในทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นเรื่องที่ไม่ข้องเกี่ยวกับงาน การเชื่อมโยงประเภทนี้วางรากฐานสำหรับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความใกล้ชิดในระดับมืออาชีพ’ โดยที่ผู้นำจะรู้ว่าผู้คนที่พวกเขาทำงานด้วยต้องการอะไร อะไรคือแรงผลักดันของพวกเขา และพวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งไหน มันคือกระบวนการในการรู้จักคนในแง่มุมที่แท้จริงของพวกเขา
เพื่อเริ่มต้นการสนทนาเหล่านี้ ผู้นำจำเป็นต้องเข้าใจว่าพนักงานทุกคน มีความต้องการพื้นฐานสามประการ:
- ผู้คนต้องการให้ผู้อื่นมองเห็นตัวตนของพวกเขา
- ผู้คนต้องการได้รับความเคารพ
- ผู้คนต้องการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในรูปแบบใดก็ตามสำหรับพวกเขา
คำถามที่ผู้นำสามารถใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงลึก ได้แก่:
- “เล่าให้ฟังหน่อยว่าชีวิตการทำงานของคุณมาจนถึงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?”
- “อะไรที่สำคัญสำหรับคุณในชีวิตและการทำงาน?”
- “คุณภูมิใจที่สุดกับอะไรทั้งในด้านส่วนตัวและด้านอาชีพ?”
- “คุณชอบอะไรที่สุดในการทำงานที่นี่?”
- “ในอีกห้าถึงสิบปีข้างหน้า คุณเห็นตัวเองอยู่ตรงไหน?”
- “โอกาสและความท้าทายที่คุณเห็นในบทบาทของคุณคืออะไร?”
- “ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งของฉัน คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?”
แม้ว่า HR จะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ แต่หน้าที่ของผู้นำคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดภายในทีม ความเป็นผู้นำที่ดีจะต้องก้าวข้ามช่องว่างระหว่าง Gen และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้ โดยการเข้าใจภูมิหลัง ค่านิยม และความต้องการที่หลากหลายของสมาชิกในทีม เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ครอบคลุมและมีชีวิตชีวา ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในที่สุด
เเหล่งที่มา
- https://www.forbes.com/sites/liesbethvanderlinden/2024/01/11/how-to-bridge-the-generation-gap-at–work/