อย่าเสียสิทธิ์! ผลประโยชน์จากประกันสังคม ที่คนไม่ค่อยใช้

ประกันสังคม เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนทุกคน เพราะการเป็นลูกจ้างหรือผู้มีรายได้ทุกเดือน สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ของประกันสังคมได้ แต่เชื่อไหมว่า สิทธิประโยชน์ที่ได้จากประกันสังคมนั้น บางคนกลับไม่ค่อยได้ใช้ ทำให้ต้องเสียสิทธิ์ไปอย่างน่าเสียดาย

ไม่ว่าจะทำประกันในรูปแบบใดในยุคนี้ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสร้างความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินด้วยกันทั้งสิ้น ประกันสังคมก็เช่นเดียวกัน คือการทำประกันที่สร้างหลักประกันให้กับชีวิตลูกจ้างในระหว่างการทำงาน โดยทุกๆ เดือนจะมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละเท่าๆ กัน 

ทั้งนี้ เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจะถูกนำไปจัดสรรโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน (ในกรณีที่การจ่ายเงินสมทบต่อเดือนสูงสุดที่ 750 บาท) ดังนี้

1.อัตรา 1.5% จำนวน 225 บาท สำหรับคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร

2.อัตรา 0.5% จำนวน 75 บาท สำหรับคุ้มครองกรณีว่างงาน

3.อัตรา 3% จำนวน 450 บาท สำหรับคุ้มครองสิทธิประโยชน์การสงเคราะห์บุตร หรือชราภาพ ซึ่งในส่วนนี้คือเงินสะสม และจะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมนั้นจะช่วยรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่ ว่างงาน ประสบอันตรายหรือได้รับความเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากประกันสังคมทั้ง 7 กรณีนั้น บางครั้งลูกจ้างอาจไม่ได้ใช้ครบทุกกรณี แต่ก็มีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิ์ใช้ได้ทุกปี แต่หลายคนมักจะละเลยหรือไม่ค่อยได้ใช้ เช่น

ตรวจสุขภาพประจำปี

หลายคนยังไม่รู้ว่า ผู้ประกันตนทุกคนสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมตรวจสุขภาพฟรี ณ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานและตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคทั้งหมด 14 รายการ ได้แก่

  1. การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test
  2. การตรวจเต้านม โดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข 
  3. การตรวจตา โดยจักษุแพทย์ เพื่อคัดกรองความผิดปกติและค้นหาโรคทางสายตา พร้อมทั้งการตรวจ Snellen eye Chart และวัดความดันของเหลวภายในลูกตา
  4. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC
  5. การตรวจปัสสาวะ UA
  6. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด FBS (Fasting Blood Sugar)
  7. การตรวจการทำงานของไต Cr และ eGFR
  8. การตรวจไขมันในเส้นเลือดชนิด Total และ HDL Cholesterol
  9. การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg
  10. การตรวจมะเร็งปากมดลูก Pap Smear
  11. การตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี Via
  12. การตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA TEST ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 14 สายพันธุ์
  13. การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 
  14. การการเอกซเรย์ปอดหรือการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray)
ทันตกรรม

ในแต่ละปี ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ทำฟันได้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี ในกรณีขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด ส่วนในกรณีที่ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมให้ตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม และกรณีที่ใส่ฟันเทียมถอดได้ทั้งปาก ประกันสังคมจ่ายให้ตามจริงไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าพลาดไปใช้สิทธิ์จากประกันสังคมกันนะ เพราะสิทธิประโยชน์เหล่านี้สามารถใช้ได้แค่ปีต่อปีเท่านั้น

ที่มา

https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/good-life/social-security-33-salary-rights-benefits

https://mgronline.com/qol/detail/9660000097909

Recently Post

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

ยุคนี้ ไม่เพียงแต่เงินเดือนเท่านั้นที่จูงใจให้พนักงานอยากอยู่ต่อ แต่สวัสดิการดีๆ...

อ่านเพิ่มเติม