ศาลแรงงาน…ที่พึ่งของมนุษย์ทำงาน และกรณีใดบ้างที่ควรพึ่งศาล

หากจะบอกว่าศาลแรงงานเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทำงานหรือบรรดาลูกจ้างทั้งหลายก็คงไม่ผิดนัก เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่เกิดข้อพิพาทระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตกลงกันได้ คนกลางที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทนั้นก็คือ ศาลแรงงาน

ศาลแรงงาน เป็นศาลชำนัญพิเศษที่มีอำนาจในการตัดสินคดีแรงงานในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นถูกเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย หรือทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้เงินเพิ่ม รวมไปถึงการกระทำอื่นๆ ของนายจ้างที่มีลักษณะขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิที่จะไปฟ้องต่อศาลแรงงานได้

กรณีใดที่ลูกจ้างควรพึ่งศาลแรงงาน

ที่พบได้บ่อยเลยก็คือ กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย เงินประกัน หรืออื่นใดที่เป็นตัวเงิน รวมไปถึงข้อพิพาทที่เกี่ยวกับ

  1. สิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
  2. สิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
  3. กรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
  4. คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
  5.   คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน
  6. ข้อพิพาทแรงงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้ศาลแรงงานชี้ขาดตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

‘พนักงานตรวจแรงงาน’ อีกหนึ่งทางเลือกที่ลูกจ้างไปยื่นคำร้องได้

นอกเหนือจากศาลแรงงานแล้ว ลูกจ้างยังสามารถไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้เช่นเดียวกัน แต่การร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานนั้นจะใช้ได้เฉพาะข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเท่านั้นหรือตามมาตรา 123 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เมื่อนายจ้างไม่จ่ายเงินที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว สินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เป็นต้น

ส่วนเงินอื่นๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เช่น เงินโบนัส หรือในกรณีอื่นๆ อาทิ นายจ้างไม่จัดชุดทำงานให้  ไม่จัดอาหารกลางวันให้ ลูกจ้างจะไม่สามารถไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ ต้องไปฟ้องศาลแรงงานเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการไปฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเลยก็คือ ศาลพิจารณาคดีแล้วจะจบเบ็ดเสร็จในชั้นศาลทีเดียว แต่ก็มีข้อเสียบางอย่าง เช่น การฟ้องคดีนายจ้างต่อศาลแรงงาน ย่อมทำลายแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง แทนที่เมื่อจบสิ้นข้อพิพาทจะยังทำงานร่วมกันได้ ก็อาจทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างตามมา

แต่หากลูกจ้างไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อน ย่อมมีข้อดีตรงที่คนกลางจากภาครัฐจะช่วยไกล่เกลี่ยให้นายจ้างมาพูดคุยตกลงกันอย่างประนีประนอม ซึ่งหากตกลงกันได้ ลูกจ้างยังอาจกลับไปทำงานร่วมกันได้ใหม่ นอกจากนี้ พนักงานตรวจแรงงานยังสามารถเรียกขอพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายจ้างได้ง่ายกว่า อีกทั้งเป็น

สรุป ไม่ใช่ทุกกรณีที่ลูกจ้างจะไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ แต่ทุกเรื่องสามารถไปฟ้องต่อศาลแรงงานได้ นอกจากนี้ หากพนักงานตรวจแรงงานไม่เห็นชอบกับคำร้องของลูกจ้างกรณีที่ยื่นฟ้องต่อนายจ้าง ลูกจ้างสามารถฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่งศาล และนำไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานได้ต่อ แต่หากเกิน 30 วันมาแล้ว จะถือว่าคดียุติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน

ที่มา

https://www.ilaw.or.th/articles/4055

https://legal.labour.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2?id=17

Recently Post