พนักงานลาออกตามกัน ฝันร้ายหัวหน้าทีม ป้องกันอย่างไร

การลาออกของพนักงานถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกองค์กร เพราะพนักงานทุกคนล้วนก็อยากเติบโตในสายอาชีพด้วยกันทั้งนั้น ส่วนในฝั่งของบริษัทต่างๆ ก็อยากรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ ด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าพนักงานคนนั้น เป็นบุคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ บริษัทคงจะต้องเสียดายแย่ ถ้าต้องเสียเพชรเม็ดงามไป

เรื่องราวการลาออกของพนักงานถือเป็นสิ่งที่ควบคุมและคาดเดาไม่ได้ ทุกองค์กรจึงต้องมีแผนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์นี้ไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมโอนถ่ายงาน หรือเตรียมประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ แต่หากเหตุการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด พนักงานดันพากันออกเกือบยกทีม พร้อมๆ กันหมด นี่คงกลายเป็นฝันร้ายของหัวหน้าและฝ่ายบุคคลเป็นแน่แท้

เพราะฉะนั้นมาดูวิธีป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้กันดีกว่า ว่าหัวหน้างานและฝ่ายบุคคลจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อรักษาพนักงานไว้ให้ได้นานที่สุด

เหตุผลสุดฮิตที่พนักงานลาออก

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า เหตุผลหลักๆ ที่พนักงานส่วนใหญ่มักใช้ในการลาออก มีอะไรกันบ้าง

หัวหน้าสุดโหด
ถือเป็นเหตุผลหลักสุดคลาสสิคตลอดกาลที่ทุกองค์กรต้องเจอ เพราะการมีหัวหน้าที่ไม่โอเค เป็นการสร้างความกดดันในการทำงาน และทำให้ลูกน้องไม่สามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างเต็มที่ พวกเขาจึงต้องการหาหัวหน้างานที่ฟิตกับสไตล์การทำงานของตัวเองมากที่สุด

เกิดอาการ Burn Out
บางทีการอยู่ในที่ทำงานเดิมๆ นานๆ หลายๆ ปี จนกลายเป็น Comfort Zone อาจแปรเปลี่ยนกลายอาการ Burn Out โดยไม่รู้ตัว ผลพวงจากการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ เป็นเวลานาน พนักงานบางคนจึงอยากก้าวออกจากกรอบไปพบเจอสภาพแวดล้อมและความท้าทายใหม่ๆ นั่นเอง

ไม่ฟิตกับวัฒนธรรมองค์กร
จริงอยู่ที่ทุกสังคมต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบอยู่ในกรอบของความเข้มงวดมากจนเกินไป บางคนอาจจะทนความเคร่งครัดในบริษัทไม่ได้ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น สวัสดิการที่ไม่ตอบโจทย์ จนต้องลาออกไปหาสิ่งที่ใช่กว่านี้ 

หน้าที่การงานไม่เติบโต
ทำงานหลายปียังย่ำอยู่ที่เดิม เงินเดือนไม่ขึ้น ตำแหน่งไม่ปรับ แถมบางทีหน้าที่รับผิดชอบกลับเยอะขึ้นกว่าเดิม เรื่องราวเหล่านี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายคนเริ่มมองหางานใหม่ด้วยเช่นกัน

ทำความรู้จัก Turnover Contagion

Turnover Contagion คือ สถานการณ์ภายในในออฟฟิศที่เริ่มมีพนักงานหลายคนเริ่มทยอยลาออกแบบตามๆ กัน ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ซึ่งจุดเริ่มต้นจะมาจากการที่มีพนักงานคนหนึ่งจุดประกายประเด็นเรื่องกาาคิดจะลาออกหรือกำลังหางานใหม่ขึ้นมาในวงสนทนา หรือมีพนักงานคนหนึ่งตัดสินใจลาออก แล้วนำเรื่องนี้ไปบอกต่อเพื่อนๆ ในทีม จึงทำให้คนอื่นๆ เริ่มมีความคิดที่อยากจะลาออกตามไปด้วยเช่นกัน โดยเรื่องราวนี้จะเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม เมื่อพนักงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สนิทกันหรือทำงานร่วมกัน หรือพนักงานคนแรกที่ลาออกเป็นคนที่มีความสามารถและเป็นที่รักของทุกคนในทีม 

สาเหตุการลาออกยกแผงของพนักงาน

เหตุผลการลาออกที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น อาจเป็นเหตุผลการลาออกแบบเดี่ยวๆ คนเดียว แต่หัวข้อนี้เรามาดูสาเหตุของการลาออกแบบยกทีมหรือการลาออกตามๆ กันของพนักงานกันบ้าง ว่าเพราะเหตุไฉน พวกเขามีแรงจูงใจอะไร ถึงได้พร้อมใจกันยื่นใบลาออกขนาดนี้

1. ขาดที่พึ่งทางใจ

เหตุผลเกิดขึ้นได้กับคนที่ไม่มีความคิดที่จะลาออกเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อมีคนในทีมคนหนึ่งที่พวกเขาไว้ใจและสนิทที่สุดกลับต้องลาออกไป ทำให้อยู่ดีๆ พวกเขาเหล่านี้ก็มีความคิดที่จะลาออกตามเสียอย่างนั้น พร้อมเกิดขึ้นคำถามร้อยแปดผุดขึ้นมาในหัว ว่าทำไมเพื่อนคนนี้ถึงลาออก มีปัจจัยอะไรในทีมหรือในบริษัทที่ไม่ดี ถ้าไม่มีคนที่เราไว้ใจได้อยู่แล้ว เราจะอยู่ต่อในบริษัทนี้ได้จริงๆ ใช่ไหม

2. ขาดเสาหลักของทีม

สานต่อจากข้อแรก ถ้าพนักงานจุดเริ่มต้นได้ลาออกไป แล้วคนนั้นดันเป็นคนที่มีความสามารถ แล้วเป็นกำลังหลักของทีมด้วยแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าการทำงานภายในทีมอาจเปลี่ยนไป จนมีเรื่องราวของความหายนะเข้ามาปะปน ก่อเกิดเป็นความเครียดเข้ามาแทนที่ความสุขในการทำงาน จึงกลายเป็นเหตุผลที่คนที่ต้องอยู่ต่อ ต้องทยอยยื่นในลาออกตามไปด้วย เพราะไม่สามารถรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นได้ไหว

3. ใครลาออกก่อนได้เปรียบ

เมื่อชีวิตการทำงานไม่ใช่รายการ Reality Show ดังนั้นคนที่อยู่รอดเป็นคนสุดท้ายจึงไม่ใช่ The Winner ของแคมเปญ แต่กลับกลายเป็นคนที่ชิงลาออกก่อนต่างหากล่ะที่เป็น The Winner ตัวจริง เพราะหากมีคนลาออก แล้วบริษัทยังไม่รับคนใหม่มาแทน แน่นอนว่าภาระหน้าที่ต่างๆ ก็ต้องโอนถ่ายมาสู่คนที่ยังอยู่ แล้วถ้ามีคนที่ 2 คนที่ 3 ลาออกตามไปเรื่อยๆ งานสำหรับคนที่อยู่ต่อ ก็ต้องเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีคูณ นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พนักงานเริ่มแย่งชิงลาออกตามกันไปเรื่อยๆ

4. พบเจอมนุษย์ Toxic

Toxic People สามารถพบเจอได้ทุกที่โดยเฉพาะที่ออฟฟิศ บางทีก็มาในรูปแบบของหัวหน้างาน หรือบางครั้งก็มาในรูปแบบของเพื่อนร่วมงาน แล้วบุคคลที่ว่านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลาออกจากบริษัทแต่อย่างใด แถมยังขยันสร้างความรำคาญใจแก่เพื่อนร่วมทีมอย่างต่อเนื่อง ครั้นจะทนอยู่ต่อไปก็ปวดประสาทเปล่าๆ ดังนั้นการพากันทยอยลาออกเพื่อหนีมนุษย์ Toxic เพียงแค่คนเดียว ก็เคยมีเคสเกิดในบางบริษัทแล้วเช่นกัน

5. รู้สึกไม่โอเคกับเรื่องภายในบริษัท

เมื่อบริษัทเริ่มไม่ยุติธรรมกับพนักงาน เช่น ออกกฎยิบย่อยแบบไม่เมคเซนส์, ตุกติกเรื่องค่าคอมมิชชัน, ให้ทำงานจับฉ่ายเกินหน้าที่ และอื่นๆ อีกมากมาย แถมเมื่อฟีดแบ็คกลับไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็กลับไม่มีอะไรดีขึ้น ทางออกเดียวก็คือต้องทยอยพากันลาออกนั่นเอง

6. วัฒนธรรมองค์กรไม่ตอบโจทย์

เรื่องความสุขในองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญ บางบริษัทแทบไม่มีสวัสดิการที่ตอบโจทย์หรืออำนวยความสะดวกแก่พนักงานเลย จนทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีบริษัทอื่นๆ ที่พร้อมดูแลพวกเขามากกว่า เพราะยุคนี้เรื่องของ Work Life Balance ถือเป็นสิ่งสำคัญ นี่ก็อาจทำให้เพื่อนๆ ในทีม อาจชวนกันไปทำงานในบริษัทใหม่ที่สามารถดูแลพวกเขาที่ได้มากกว่านี้

7. บริษัทกำลังเผชิญกับวิกฤติ

อีกหนึ่งเหตุผลยอดฮิตที่มีส่วนในพนักงานลาออกตามกัน ทั้งในเรื่องของสถานะความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ความผิดพลาดจากการทำการตลาดจนกลายเป็น Talk of the Town ในโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงเรื่องของฐานลูกค้าบริษัทที่หายไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้พนักงานขาดความเชื่อมั่น และรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ จนต้องรีบชิ่งหนีก่อนที่จะถูกลอยแพ

ผลกระทบของการลาออกของพนักงานแบบยกแผง

แน่นอนว่าการที่พนักงานทยอยลาออกตามกันโดย(ไม่)ได้นัดหมาย ย่อมก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงตามมาแก่บริษัทแน่นอน แถมยังส่งผลต่อพนักงานคนอื่นที่เหลืออยู่อีกด้วย ทั้งในเรื่องของภาระงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนพนักงานที่ลดน้อยลง ตามด้วยปัญาความเครียดที่ต้องตามมาแน่นอน เพราะเมื่องานหนักขึ้น ยังไงคนที่เหลืออยู่ก็ต้องกดดันขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังอาจส่งผลถึงรายได้ของบริษัท ซึ่งถ้าหากคนไม่พอ อาจทำให้การดูแลลูกค้าขาดความต่อเนื่องและไม่ทั่วถึง จนทำให้ลูกค้ายกเลิกสัญญาได้ รวมไปถึงบริษัทอาจต้องใช้งบในการประกาศหางานใหม่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรีบหาคนใหม่มาแทนที่คนเก่าให้เร็วที่สุด 

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้พนักงานลาออกตามกัน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจจนเกินไป เพราะอย่างไรทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ดังนั้นเราลองมาดูวิธีป้องกันดีกว่า ว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาพนักงานเอาไว้ ไม่ให้ต้องลาออกตามกัน

1. คอยสังเกตว่าพนักงานคนไหนมีแนวโน้มที่จะลาออก

หากรับรู้ได้ถึงสัญญาณว่าเริ่มจะมีพนักงานคนใดคนหนึ่งอยากลาออก ลองหาโอกาสในการพูดคุยกับพนักงานคนนั้นถึงสาเหตุในการลาออก แล้วยิ่งถ้าพนักงานคนนั้นอาจเป็นต้นเหตุของ Turnover Contagion ด้วยแล้ว ยิ่งรีบต้องพูดคุยหาทางแก้ไข และมีวิธีใดที่จะทำให้พนักงานคนนั้นอยู่ต่อ เพื่อป้องกันการลาออกตามกัน อีกทั้งยังควรหาแผนสำรองในการหาพนักงานคนใหม่มาแทนที่ หากไม่สามารถโน้มน้าวพนักงานคนนั้นได้

2. ให้พนักงานทำงานในปริมาณที่เหมาะสม

การทำงานที่โหลดจนเกินไป อาจทำให้พนักงานเกิดความเครียดสะสม ดังนั้นควรให้แต่ละคนทำงานในปริมาณที่พอดีและสอดคล้องกับทักษะ หากมีงานเข้ามามากเกินจำนวนคนที่มีอยู่ ควรเปิดรับสมัครคนมาช่วยทำงานเพิ่ม

3. หาโอกาสในการพูดคุยและรับ Feedback จากพนักงาน

วิธีนี้น่าจะช่วยให้พนักงานผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ระดับหนึ่ง เพราะถ้าบริษัทไม่มีการพูดคุยหรือรับ Feedback จากพนักงานเลย บริษัทก็ไม่อาจรู้ได้ว่าพนักงานประสบปัญหาตรงไหน ดังนั้นการพูดคุยเพื่อรับรู้ถึงปัญหาแล้วร่วมกันแก้ไข ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดี

4. ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อต่อยอดในสายอาชีพ

เมื่อสังเกตเห็นว่าพนักงานคนไหนมีความสามารถพิเศษเพิ่มเติมจาก Job Description ที่ทำอยู่ ลองยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมให้เขาไปเทคคอร์สพิเศษ เพื่อเป็นการต่อยอดใน Career Path หรือหากเล็งเห็นว่าพนักงานคนไหนมีศักยภาพที่เพียงพอ อาจลองปรับตำแหน่งหรือเพิ่มเงินเดือน เพื่อดึงดูดให้พนักงานมีแรงจูงใจที่จะทำงานกับบริษัทต่อไป

5. ดูแลพนักงานอย่างทั่วถึง

เรื่องสวัสดิการก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแสดงถึงความใส่ใจต่อพนักงานของบริษัท เพื่อเป็นการตอบแทนที่เขาทำให้บริษัทมาอย่างเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งปี อาจลองจัดกิจกรรมคลายเครียดระหว่างสัปดาห์ กิจกรรมสนุกสนานประจำเดือน หรือการท่องเที่ยวประจำปี รวมไปถึงเพิ่มสวัสดิการดูแลชีวิตนอกเวลางาน เพื่อเสริมสร้าง Work Life Balance ของพนักงาน

6. เติมเต็มความเชื่อมั่นให้พนักงาน

หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในบริษัท ควรเร่งรีบในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงาน เช่นการจัด Town Hall ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา หรือจะเป็นการชี้แจ้งผลประกอบการอย่างคร่าวๆ ของบริษัท เพื่อสร้างมั่นใจให้พนักงานได้รู้ว่าสถานะการทำงานของเขายังมั่นคงอยู่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้

สรุปให้ชัด พนักงานลาออกตามกัน ป้องกันอย่างไร

แม้การลาออกของพนักงานจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกบริษัท แต่ถ้าพนักงานลาออกตามกันไปหลายๆ คนก็คงจะไม่ดีเท่าไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไข ดังนั้นทุกบริษัทควรดูแลใส่ใจพนักงานให้เต็มความสามารถ เพื่อที่จะดึงดูดให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมั่นในองค์กร เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนมีความสุขในการทำงาน ก็ย่อมที่จะไม่มีใครอยากลาออกแน่นอน

ขอบคุณบทความจาก : https://th.jobsdb.com/th-th/articles/how-to-avoid-great-resignation/

#Resign #HRProblem #HR #Problem
#trips #Working #greatarticle

Recently Post

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณในฐานค่าชดเชยไหม ?

ยุคนี้ ไม่เพียงแต่เงินเดือนเท่านั้นที่จูงใจให้พนักงานอยากอยู่ต่อ แต่สวัสดิการดีๆ...

อ่านเพิ่มเติม