บริบทแรก มองผ่านคณะวิชาที่มีความโดดเด่น ม.กรุงเทพเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแรกที่กล้าเปิดสอนคณะนิเทศศาสตร์ ในปี 2514 ยุคนั้นสาขาวิชานี้มีสอนแต่ในมหาวิทยาลัยรัฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งวิถีความกล้าคิดต่าง ฉีกกรอบให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเอกชนก็สามารถพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ได้และทำได้ดีด้วย
อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพคนปัจจุบัน บอกว่า “ ถ้าคิดว่าวันนี้ดีที่สุดแล้ว คุณพอใจแล้ว คุณจะตกเทรนด์ในทันทีที่คิด อะไรที่จะดีกว่าวันนี้ได้ ให้เดินหน้าทำไป ไม่ต้องสนใจว่าคนรอบข้างจะคิดยังไง” ความหมายชัดเจนคือ การแข่งกับตัวเอง แนวคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดปัจจัยที่ส่งเสริมและสร้างมโนภาพใหม่ให้คำว่า “ม.เอกชน” ในปัจจุบันกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้การยอมรับจากภาคสังคม-ธุรกิจ
การเรียนนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพต่างไปจากที่อื่น จนถึงทุกวันนี้เรายังคงได้ยินคำพูดทำนองว่า ถ้าจะเรียนนิเทศศาสตร์ ต้องม.กรุงเทพ เหตุผลมาจากความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ครบครันและเพียงพอสำหรับนักศึกษาทุกคน และในวันที่นิเทศศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยต้องยุบทิ้งในบางสาขาวิชา แต่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กลับพัฒนาเดินหน้าต่อด้วยหลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น
สาขา Innovative Media Production (หลักสูตรนานาชาติ) ปั้นคนนิเทศฯ พันธุ์ใหม่ที่มีความเข้าใจการใช้สื่อดิจิทัลหลากหลายแพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารที่ตอบรับกระแสธุรกิจยุคดิจิทัลได้ทันสถานการณ์ ตลาดงานอ้าแขนรับนักศึกษาม.กรุงเทพ เพราะรู้ว่า เป็นบัณฑิตที่ลงมือทำงานได้ทันที พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ มีความคิดสร้างสรรค์ อดทนและทำงานเป็น อันเป็นผลมาจากการเรียนการสอนเป็นแบบ Pragmatic Learning ได้ลงมือทำงานในสนามธุรกิจจริงตลอดสี่ปี่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะที่เรียกว่า soft skill ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นมากต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
ความน่าสนใจอีกอย่างคือการพัฒนาสาขาวิชาภาพยนตร์ มาเป็น คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ นับเป็นคณะเดียวในไทยครบเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนทันสมัยและมากที่สุด นักศึกษาได้คิดได้ทำงานจริงตั้งแต่ปีหนึ่ง ได้เรียนกับมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศชั้นนำระดับโลก อย่าง Vancouver Film School มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีคอนเน็คชั่นธุรกิจเหนียวแน่นกับภาคธุรกิจคอยให้การสนับสนุน นักศึกษาสามารถผลิตงาน ขายงานและสร้างธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ของตัวเองได้ตั้งแต่เรียนปีสองปีสาม
จะเห็นว่าความเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ใน 4 เรื่องสำคัญที่ทำมานานและต่อเนื่อง คือ
1. ทันยุค – ปรับหลักสูตรใหม่เสมอ
2. นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง คณาจารย์คือโค้ช
3. เครื่องมืออุปกรณ์ครบ เทคโนโลยีจัดเต็ม
4. Partnership & Connection สร้างโอกาสทำงานจริงกับกลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาที่เป็นธุรกิจเอกชนชั้นนำ ร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะและปั้นบัณฑิตที่ธุรกิจต้องการ
“ปัจจัย ส่งเสริมความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ว่าประกอบด้วย
• Visionary • Creativity • Entrepreneurship • International perspective และปัจจัยเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกคณะ-สาขาวิชาที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หลายหลักสูตรเพื่อ ‘ปั้น’ คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพยุคใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”

บริบทที่สอง ฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรทางการศึกษาทั้งการให้มุมมองของสถานการณ์โลกการทำงานปัจจุบัน และ สนับสนุนการเรียนการสอนคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ
นักธุรกิจหลายคนเป็นศิษย์เก่าของม.กรุงเทพ พวกเขามีมุมมองคล้ายกันว่า ปัจจุบันในหลายสาขาอาชีพคำว่า
“ม.รัฐ-ม.เอกชน” แทบจะไม่มีผลต่อการรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน สำคัญอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้ “ปั้น” คนที่ตอบโจทย์ตลาดงานในธุรกิจนั้นๆ หรือเปล่า”

อรรฆรัตน์ นิติพน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น จำกัด ทำโฆษณา รายการโทรทัศน์ และผลิตคอนเท้นต์ในทุกแพลตฟอร์ม บอกว่า “เรามองหาบัณฑิตที่มีทัศนคติดีต่องานที่ทำ ต้องเชื่อว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ และต้องมีความชำนาญในสายงาน จบจากที่ไหนไม่สำคัญเท่าการที่คุณทำงานเป็นตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย”
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) หนึ่งในธุรกิจสำคัญของกลุ่ม Sea คือ Garena ประเทศไทย ยักษ์ใหญ่วงการเกม “พนักงานใหม่ที่เราต้องการจะต้องมีทัศนคติเชิงบวก มีทักษะในการปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็ว และต้องมีทักษะ Soft Skill เช่น การคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ และมีความคิดสร้างสรรค์”
วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคม Tech Startup ประเทศไทย “มหาวิทยาลัยต้องเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ให้มาก สอนแบบ on the job training ทำให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา อย่างไอทีจะมีอัพเดทอยู่เสมอ หลักสูตรอะไรก็ไม่น่าจะตามทัน แต่การสอนแบบ discussion จะได้ผล นักศึกษาจะรู้ว่าอะไรเป็นของใหม่ อะไรต้องปรับตัว เค้าจะค้นพบขั้นตอนการเรียนรู้เอง เราอยากได้บัณฑิตที่มีความใฝ่รู้แบบนี้”
การแข่งขันกับตัวเอง ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ น่าจะสร้างแรงสะเทือนและถูกใช้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งให้แวดวงการอุดมศึกษาไทยเริ่มขยับตัวในยุคที่อนาคตใหม่พุ่งเข้าใส่คนทุกรุ่นอย่างไม่ปรานี
ที่มาบทความ : www.brandbuffet.in.th